อาการหิวบ่อย เกิดจากสัญญาณทางประสาทที่เตือนร่างกายว่าต้องการอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงาน การเกิดความหิวนั้นเกิดจากการหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (ghrelin) ออกมาจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อท้องว่าง ฮอร์โมนเกรลินจะส่งสัญญาณไปยังสมองว่าร่างกายต้องการอาหาร
ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาหารหิวบ่อย
- ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
- ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) หรือฮอร์โมนควบคุมความอิ่มในร่างกายไม่สมดุล
- ความเครียด ความเศร้า ใช้อาหารบำบัดความเครียด
- การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง (อาหารบางประเภททำให้หิวมากขึ้น และหิวเร็วขึ้น)
- ปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น อาการ PMS, ตั้งครรภ์ พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ความเคยชิน กินจุกจิกทุก 1 ชั่วโมง
อาการหิวบ่อย ควรเช็กระดับความหิวก่อน!
หลายครั้งที่เกิดความสับสนระหว่างความหิว และ อาการกระหายน้ำ ความรู้สึกอยากทานอะไรสดชื่นๆ และจบลงที่ขนม หรือ ของว่างพลังงานสูง แต่ก็ยังไม่หายหิวอยู่ดี นั่นเป็นเพราะร่างกายอาจจะแค่กระหายน้ำไม่ได้หิวอย่างที่เข้าใจ
ถ้ามีอาการหิวแบบนี้ แนะนำให้เริ่มจากการดื่มน้ำเปล่าก่อน ถ้าหากยังมีอาการหิว ค่อยหาอาหารมื้อหลักที่มีประโยชน์มารับประทาน หรือให้เลือกเป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานต่ำมาดื่ม
-
ความหิวที่มาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง
อาหารบางประเภท รับประทานแล้วรู้สึกว่าอิ่มได้ไม่นาน เผลอแป๊บเดียวก็หิวอีกแล้ว ความหิวแบบนี้ มีสาเหตุมาจากอาหารที่ทานเข้าไปนั้นทำให้หิวมากขึ้น และหิวเร็วขึ้น เช่น อาการประเภทข้าว แป้งขาว น้ำตาล, อาหารที่มีโซเดียมสูง ฟาสต์ฟู้ด ขนมขบเคี้ยว, น้ำผลไม้ที่แยกกากใยออกจนหมด รวมถึง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ทำให้ควบคุมความหิวได้ยากขึ้น
-
ความหิวที่มาจากปัจจัยด้านร่างกาย และสุขภาพ
สำหรับสาวๆ ที่มีอาการหิวบ่อยมากกว่าปกติ อาจเป็นอาการของช่วงก่อนวันมีประจำเดือน (PMS) หรือ เป็นสัญญาณเตือนว่าเรากำลังตั้งครรภ์ก็ได้ โดยในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีความต้องการอาหารมากขึ้น ทำให้หิวบ่อยขึ้น
สาเหตุจากการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็ส่งผลต่อความหิวได้ จากการศึกษาวิจัยพบว่า การนอนหลับไม่เพียงพอจะส่งผลกับการหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ตัวการควบคุมความหิว ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้มากขึ้น ในขณะที่ทำให้ระดับการหลั่งฮอร์โมนเลปติน (leptin) ที่ควบคุมความอิ่มลดลง
นอกจากนี้ อาการหิวที่มากกว่าปกติ อาจเป็นอาการของโรคต่างๆ ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น โรค Hypoglycaemia หรือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งโดยมากจะพบอาการนี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ใช้ อินซูลิน เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลต่ำจะส่งผลให้อยากอาหารมากขึ้น หิวหนักขึ้น หิวเร็วขึ้น หรืออาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ และหน้ามืดได้ นอกจากนี้ ความหิวอาจเป็นอาการของโรคไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ได้ด้วย ถ้าหากมีอาการหิวโดยมีสาเหตุจากโรคเหล่านี้ แนะนำให้มาปรึกษาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
-
ความหิวที่เกิดจากปัจจัยทางอารมณ์
ความเครียดมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนควบคุมความอิ่ม (Leptin) และฮอร์โมนควบคุมความหิว (Ghrelin) ซึ่งร่างกายแต่ละคนจะมีการหลั่งฮอร์โมนไม่เท่ากัน
ความหิวที่กล่าวไปข้างต้นอาจมาจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น ปัจจัยทางสุขภาพ อารมณ์ และสังคม สำหรับคนที่หิวบ่อย ๆ แนะนำให้ตรวจสอบว่าความหิวที่มากเกินการควบคุมนั้นมาจากสาเหตุใด และควรแก้ไขอย่างไร อาจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน หรือปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและต้องการพลังงานของตัวเอง การควบคุมอารมณ์และการลดความเครียดก็เป็นวิธีที่ช่วยลดความหิวแบบไม่จำเป็นได้เช่นกัน
ที่มา: sikarin.com