Shopping cart

        โพรไบโอติก คือแบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อรับประทานเข้าไปในจำนวนที่เพียงพอ จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพ โดยเข้าไปลดจำนวนจุลินทรีย์ก่อโรคในลำไส้ ทำให้เกราะป้องกันบริเวณเยื่อบุลำไส้แข็งแรงมากขึ้น รวมถึงช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ประโยชน์ของจุลินทรีย์โพรไบโอติก

  • ช่วยลดอาการท้องผูก ท้องเสีย
  • ช่วยลดอาการลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome) และลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel diseases; IBD)
  • ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
  • ช่วยลดการอักเสบ 
  • ลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากทางเดินอาหาร

สัญญาณเตือน ร่างกายกำลังขาดโพรไบโอติก

  • มีอาการเกี่ยวกับภูมิแพ้ เช่น ผื่นแพ้ผิวหนัง, ภูมิแพ้อากาศ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้แปรปรวน ท้องผูก และกรดไหลย้อน 
  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ หรือ ภาวะติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ 

 

อาหารที่มีโพรไบโอติกส์

         การรับประทานอาหารเสริมโพรไบโอติกส์นั้นไม่จำเป็น เนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบห้าหมู่ มีกากใยสูงก็เพียงพอต่อการสร้างความสมดุลของจำนวนแบคทีเรียในร่างกาย หากต้องการเพิ่มจำนวนโพรไบโอติกส์ในร่างกาย เราสามารถรับประทานอาหาร เช่น โยเกิร์ต บัตเตอร์มิลค์ ขนมปังซาวโดว์ คอทเทจชีส ชาหมัก (kombucha) นมหมัก (kefir) เทมเป้ (tempeh) ผักดอง กิมจิ และซุปมิโซะ อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว เนื่องจากจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้

       ในบางราย แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมโพรไบโอติกส์ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของเครื่องดื่ม ยาเม็ด หรือผง ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมโพรไบโอติกส์อาจจะมีพรีไบโอติกส์ เช่น อินนูลิน เพกติน แป้งทนการย่อย ซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียที่ดีที่อยู่ในลำไส้อยู่ด้วย การรวมโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์เข้าไว้ด้วยกันมีชื่อเรียกว่า ซินไบโอติกส์ เนื่องจากโพรไบโอติกส์บางสายพันธุ์นั้นไวต่อแสง ความร้อน ออกซิเจน และความชื้น จึงจำเป็นต้องเก็บรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม และไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมโพรไบโอติกส์ที่หมดอายุ

       อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะเริ่มรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หรือเด็ก

 

ผลข้างเคียงของโพรไบโอติก หากกินมากเกินไป

        ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมาไม่นานมานี้ หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพรุนแรง การรับประทานโพรไบโอติกส์อาจไปเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ การดื้อยาปฏิชีวนะ และการที่โพรไบติกส์เองสร้างสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

 

คำถามที่ถามบ่อย

  • เด็ก ๆ สามารถรับประทานโพรไบโอติกส์ได้หรือไม่?

       โพรไบโอติกส์ช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อน ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย และโรคผื่นผิวหนังอักเสบ เด็ก ๆ สามารถรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์สูง เช่น โยเกิร์ต คอทเทจชีสได้

  • ควรรับประทานโพรไบโอติกส์ร่วมกับยาปฏิชีวนะหรือไม่?

        แพทย์มักจ่ายยาปฏิชีวนะให้เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ยาจะฆ่าทั้งแบคทีเรียที่ดีและไม่ดีไปพร้อมกัน การรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์จะช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่ดีเพื่อมาต่อสู้กับแบคทีเรียตัวร้าย ช่วยบรรเทาอาการของโรคที่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะได้

 

     โพรไบโอติกมีส่วนช่วยให้สุขภาพของเราแข็งแรง ดังนั้นเราควรเริ่มต้นดูแลร่างกายตัวเองด้วยการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติก เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เทมเป้ กิมจิ ซุปมิโสะ เป็นต้น เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมและให้ได้ผลดียั่งยืนที่สุด 

 

 

ที่มา: bdmswellness.com

ใส่ความเห็น

กุมภาพันธ์ 2025
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728