ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีรู้สึกว่ามีเหงื่อออกมากผิดปกติ ออกตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นที่มือ ที่เท้า หรือบริเวณรักแร้ คงไม่ดีแน่ที่จะปล่อยให้ภาวะนี้กลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต และทำให้เสียบุคลิกภาพ ก่อนจะถึงขั้นนั้นเรามาเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่ตอนนี้เลย
จุดเริ่มต้นของ “เหงื่อ”
ร่างกายของคนเราประกอบไปด้วยอวัยวะต่างๆ ที่ทำงานร่วมกัน เกิดเป็นกระบวนการต่างๆ ซึ่งกระบวนการเมตาบอลิซึ่ม (Metabolism) ก็เป็นอีกกระบวนการทำงานที่สำคัญของร่างกาย ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงอาหารที่เราทานเข้าไปให้เป็นพลังงาน ทำให้ร่างกายเกิดความร้อน ซึ่งเมื่อร่างกายเกิดความร้อน ร่างกายก็จะมีกลไกในการควบคุมหรือระบายความร้อน นั้นออกมาในรูปแบบของ “เหงื่อ” เพื่อให้ความร้อนในร่างกายอยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือเรียกว่า “การหลั่งเหงื่อ คือการถ่ายเทความร้อนที่เกิดจากกระบวนการต่างๆ ในร่างกายออกไป”
สาเหตุของ “ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ”
ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperthydrosis) คือภาวะที่ร่างกายขับเหงื่อออกมาเป็นจำนวนมาก แม้ในสภาพอากาศปกติ ซึ่งสามารถแบ่งตามลักษณะอาการออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน (primary hyperhydrosis) และกลุ่มที่มีสาเหตุจากภาวะความผิดปกติในร่างกาย (Secondary Hyperhydrosis)
- กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน (Primary Hyperhydrosis) กลุ่มนี้จะมีภาวะเหงื่อออกเยอะผิดปกติ ที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และไม่ได้มีสาเหตุมาจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ ซึ่งเกิดได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย คนไข้ในกลุ่มนี้ จะมีเหงื่อออกในบริเวณบางส่วนของร่างกาย เช่น ใบหน้า ศีรษะ รักแร้ ฝ่ามือ ซึ่งในกลุ่มที่มีภาวะเหงื่อออกเยอะผิดปกติบริเวณฝ่ามือ อาจเรียกว่า ภาวะเหงื่อมือ หรือ เหงื่อออกมือ เป็นต้น มักพบได้บ่อยในกลุ่มคนที่อายุยังน้อย ในกลุ่มวัยรุ่น ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 30-40 ของคนที่มีภาวะนี้ พบว่ามีญาติสายตรง หรือพ่อแม่ที่มีภาวะเหงื่อออกเยอะผิดปกติเช่นกัน ผู้ป่วยบางรายมีเหงื่อออกมากที่มือจนเขียนหนังสือหรือจับสิ่งของไม่ได้ ซึ่งภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาทั้งในแง่การทำงาน การเข้าสังคมและการดำรงชีวิตประจำวัน
- กลุ่มที่มีสาเหตุจากภาวะความผิดปกติในร่างกาย (Secondary Hyperhydrosis) คนไข้ในกลุ่มนี้ จะมีเหงื่อในปริมาณมาก ออกทั่วร่างกาย แม้กระทั่งในเวลานอน ซึ่งมีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงของโรคอื่น ๆ เช่น
- โรคไทรอยด์เป็นพิษ ทำให้ร่างการมีการเผาผลาญสูง
- โรควัณโรคปอด
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีภาวะอ้วนมาก ๆ
- หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน
- การรับประทานยาบางชนิด เป็นต้น
สาเหตุที่เหงื่อออกเยอะเกิดจากอะไรบ้าง?
- สภาวะของจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความตื่นเต้น ความเครียด หรือ ความวิตกกังวลก็ล้วนทำให้เกิดเหงื่อออกเยอะผิดปกติได้ทั้งสิ้น
- การออกกำลังกาย เมื่อเราออกกำลังกาย หนึ่งในสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ก็คือ เหงื่อ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากเกิดการเผาผลาญพลังงานแล้วขับเหงื่อออกมานั่นเอง
- สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว เมื่อเราต้องตกอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ร่างกายย่อยมีการขับเหงื่อออกมา เพื่อรักษาสมดุลของอุณหภูมิภายในร่างกาย
- สภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปของร่างกาย โดยเฉพาะในส่วนของคุณผู้หญิงที่มักเกิดอาการเหงื่อออกเยอะเมื่ออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หรือ อยู่ในสภาวะหมดประจำเดือน โดยสาเหตุหลังนี้มักมีอาการร้อนวูบวาบร่วมด้วย
- พันธุกรรม หลาย ๆ ครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่เป็นคนเหงื่อออกเยอะ ลูกหลานก็มักมีอาการเหงื่อออกเยอะตามไปด้วย โดยมักปรากฎในอายุต่ำกว่า 25 ปี
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด ยาบางชนิดมีผลต่อระบบขับเหงื่อ และ การรักษาความสมดุลภายในร่างกายของเรา อาทิเช่น โพรทริปไทลีนเดซิพรามีน หรือ นอร์ทริปไทลีน
- โรคติดเชื้อ โรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดเหงื่อออกเยอะก็มีทั้งโรควัณโรค และ โรคเอดส์
- สภาวะของร่างกายที่ไม่สมดุล ส่วนของค่าชีวเคมีต่าง ๆ ภายในร่างกายที่ผิดปกติ อาทิเช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ หรือ ไทรอยด์เป็นพิษ
- ร่างกายทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะในส่วนของระบบที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ สมอง หรือ ต่อมหมวกไต อาทิเช่น การเป็นโรคหัวใจขาดเลือด การเกิดหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือ ต่อมหมวกไตที่ทำงานผิดปกติ
- การเกิดภาวะโรคของร่างกาย อย่างโรคปอด โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคพาร์กินสัน โรคเก๊าท์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น
วิธีการดูแลตัวเอง เมื่อเป็นคนเหงื่อออกเยอะ
- การปรับพฤติกรรม ทั้งการพักผ่อน การบริโภค หรือ แม้แต่การดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณของเหงื่อลงได้
- ฝึกสมาธิ อย่างการเล่นโยคะ หรือ การออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มสมาธิ ทำให้สามารถควบคุมอารมณ์ไม่ให้ตื่นเต้นมากเกินไป
- สุขอนามัยที่ดี ทั้งการอาบน้ำ หรือ การสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดปราศจากกลิ่นอับ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มร้อนบางประเภท อาทิเช่น เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนอย่างชา หรือ กาแฟ ที่กระตุ้นการขับเหงื่อให้ออกมามากขึ้น
- ควบคุมน้ำหนักกาย เพราะผู้ที่มีน้ำหนักกายเกินเกณฑ์มักเกิดโรคอ้วนตามมา และ ผู้ที่เป็นโรคอ้วนก็มักมีเหงื่อออกเยอะกว่าปกติ
ทางเลือกของการรักษาภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ
ในการรักษาภาวะเหงื่อออกเยอะผิดปกตินั้น มีทั้งการรักษาแบบผ่าตัดและไม่ต้องผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ร่วมกับคนไข้ในแต่ละราย ซึ่งมีตั้งแต่การรักษาโดยการกินยา หรือฉีดยา ไปจนถึงการผ่าตัด
- การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด จะเป็นการใช้ยาทาบางกลุ่มหรือการฉีดสารบางชนิด แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาดังกล่าว เป็นแค่การรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น เพราะวิธีนี้ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากอาการเหงื่อออกเยอะผิดปกติได้
- การรักษาแบบผ่าตัดผ่ากล้อง เป็นวิธีการรักษาชนิดเดียวในปัจจุบันที่ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากอาการดังกล่าว โดยเรียกการผ่าตัดนี้ว่า Thoracoscopic sympathectomy ซึ่งอาศัยหลักการที่ว่าการหลั่งเหงื่อของร่างกายนั้น เกิดจากการสั่งการโดยสมอง ผ่านระบบประสาทอัตโนมัติแบบซึมพาเทติค (sympathetic nervous system) ซึ่งจะมีการส่งสัญญาณไปตามเส้นประสาทย่อยๆ ผ่านปมประสาทซิมพาเทติคถึงปลายทางที่บริเวณต่อมเหงื่อให้มีการหลั่งเหงื่อ ความรู้ดังกล่าวทำให้ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดโดยทำลายปมประสาทบางส่วนที่ส่งสัญญาณมาบริเวณใบหน้า, มือหรือรักแร้ ทำให้ไม่มีสัญญาณสั่งการส่งมาที่ต่อมเหงื่อปลายทาง จึงทำให้ไม่มีการหลั่งเหงื่อเกิดขึ้นที่บริเวณนั้นๆ
อาการเหงื่อออกเยอะเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกท่าน ในบางท่านก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเกิดขึ้นไม่บ่อยมากนัก ซึ่งก็มักจะมีสาเหตุมาจากสิ่งเร้าภายนอก แต่หากคุณเป็นหนึ่งในคนเหงื่อออกเยอะที่เกิดขึ้นเป็นประจำ คุณควรหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว อาการดังกล่าวเกิดจากสิ่งเร้าภายใน หรือ ความผิดปกติของร่างกาย ถ้าคุณทราบสาเหตุเร็วก็จะสามารถรักษา และป้องกันการเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้
ที่มา: phyathai.com