Shopping cart

       ข้อเข่าเสื่อม เกิดได้จากหลายปัจจัย คงถึงเวลาแล้วที่จะหันมาดูแลข้อเข่าของตนเอง และควรจะทำเช่นไรล่ะ จึงจะช่วยลดโอกาสการเกิดปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่าได้บ้าง? แล้วอาการแบบใดถึงจะเรียกว่ามีปัญหาและต้องไปพบแพทย์? ถ้าเป็นแล้วจะรักษาอย่างไร? รู้และป้องกันลดความเสี่ยง

 

ดูแลสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปและขาดการออกกำลังกาย

       กล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่าจะมีความเสี่ยงสูง ที่จะเกิด ข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย ยิ่งกว่านั้นพฤติกรรมการใช้ข้อเข่าที่มากเกินไปในแต่ละวัน เช่น

  • การนั่งในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานๆ
  • รวมทั้งการได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า
  • ภาวะกระดูกพรุนอันเนื่องมาจากความแข็งแรงของกระดูกลดลง
  • ประกอบกับวัยที่เพิ่มขึ้นก็ล้วนแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมของข้อเข่าได้เร็วกว่าปกติทั้งสิ้น

 

รู้จักข้อเข่า

        จัดว่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายทำหน้าที่ช่วยรับน้ำหนักได้ประมาณ 3-4 เท่า ของน้ำหนักตัว หากมีน้ำหนักตัวมากก็จะส่งผลให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักตัวที่มากขึ้น จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำมาสู่การเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้

 

รู้จักอาการ

        มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ซึ่งนอกจากจะทำให้ต้องทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดแล้ว บางรายก็ไม่สามารถเดินได้ ช่วยเหลือตัวเองในการทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ หรือ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ อาทิ อาการซึมเศร้า โรคความดันโลหิต โรคเบาหวานและโรคหัวใจได้อีกด้วย

 

อาการแบบไหน ? 

  • ปวดมากเมื่อคุกเข่า นั่งพับเพียบ ลุกนั่ง ขึ้นลงบันได และอาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดพัก
  • เมื่อขยับข้อรู้สึกถึงการเสียดสี หรือมีเสียงในเข่าขณะเคลื่อนไหว
  • มีอาการฝืดขัดข้อเข่า โดยเฉพาะตอนเช้าและเมื่อหยุดเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน
  • ข้อเข่าติด เหยียดหรืองอเข่าได้ไม่สุด
  • เข่าบวมแดงหรือโต มีน้ำภายในข้อจากการอักเสบ
  • กล้ามเนื้อขาลีบเล็กลงกว่าข้างปกติ
  • เมื่อมีอาการมากขึ้นและเรื้อรัง จะพบว่าข้อเข่าโก่ง หลวมหรือเบี้ยวผิดรูป

 

ใครบ้าง ? มีความเสี่ยง

  • อายุมากขึ้น มักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
  • น้ำหนักตัวมาก ดัชนีมวลกาย BMI มากกว่า 23
  • ใช้ข้อเข่ามาก โดยเฉพาะการนั่งยองๆ พับเพียบ คุกเข่า
  • เคยได้รับบาดเจ็บที่เข่า
  • กล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรง
  • เกิดจากโรคข้ออักเสบชนิดอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกาต์

 

การป้องกัน

  1. ควบคุมน้ำหนักตัว เพราะเมื่อข้อเข่ารองรับน้ำหนักมากก็มีโอกาสเสี่ยงเร็วขึ้น
  2. อย่าใช้งานข้อเข่าหนักเกินไป เช่น การยกของหนัก การนั่งยองๆ ขัดสมาธิ คุกเข่า พับเพียบนานๆ หรือบ่อยครั้ง หัวเข่าจะได้รับแรงกดทับสูงกว่าปกติ ทำให้มีโอกาสเป็นได้มากขึ้น
  3. การออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป หรือกีฬาที่ใช้แรงปะทะ อาจทำให้หัวเข่ารับน้ำหนักมาก หรือเกิดการยืดหดของเข่าถี่เกินไป เสี่ยงได้เช่นกัน
  4. หมั่นบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรง เพื่อช่วยลดภาระของข้อเข่า

 

ในกรณีที่มีอาการ ปวดข้อเข่า

  • ควรเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดจากแพทย์ผู้ชำนาญการ ด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ เพื่อดูว่าข้อเข่ามีความเสียหายมากน้อยเพียงใด โดยยังต้องตรวจดูข้อ อื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อแยกสาเหตุของโรคที่อาจพบอาการคล้ายกัน เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาท์ ก่อนที่จะไปตรวจสภาพที่แท้จริงของกระดูกอ่อนด้วย
  • การเอ็กซเรย์ข้อเข่าในท่ายืน จากภาพเอ็กซเรย์หากพบว่าช่องว่างภายในแคบลงมากเท่าใดก็บ่งบอกถึงการสึกหรอของข้อเข่ามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะทำให้มีผลได้ในอนาคต
  • การเจาะเลือดเพื่อหาระดับกรดยูริค
  • การตรวจความหนาแน่นของกระดูกเพื่อตรวจสอบภาวะกระดูกพรุน
  • การตรวจน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่ากรณีข้อเข่าบวม

 

การรักษา

  • รักษาด้วยยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ และยากลุ่มสารอาหารเสริมสร้างกระดูก
  • ฉีดสารน้ำเลี้ยงไขข้อ
  • ทำกายภาพบำบัด เช่น ใช้ความร้อนลึก และบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า
  • ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เมื่อปวดมากและรักษาด้วยยาหรือทำกายภาพแล้วไม่ดีขึ้น หรือข้อเข่าผิดรูปจนใช้งานไม่ได้

 

        การผ่าตัดปัจจุบัน มีวิทยาการใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยีการส่องกล้องผ่าตัดข้อเข่า การผ่าตัดจึงเป็นการรักษาเป็นแนวทางที่แพทย์จะเลือกใช้เมื่อการรักษาด้วยวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำกายภาพบำบัด และรักษาด้วยยาแต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด แพทย์จึงจะประเมินและตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อพิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมร่วมกับคนไข้ เพราะทุกการรักษามุ่งหวังให้คนไข้หายจากอาการปวด สามารถกลับมาเดิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกครั้ง

 

 

ที่มา: synphaet.co.th

ใส่ความเห็น

กุมภาพันธ์ 2025
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728