ฝุ่นละออง PM2.5 เป็นมลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกับสุขภาพมากที่สุด ในปี 2019 มลพิษทางอากาศนี้มีส่วนทำให้คนกว่า 4.2 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิต โดยส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
ความน่ากลัวของ PM2.5 นั้นคือไม่สามารถมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า (เล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ประมาณ 25 เท่า) ทำให้หลายครั้งผู้คนขาดความตระหนัก ไม่ได้ระมัดระวัง และขาดการป้องกันตัวเองจากฝุ่นละออง
สาเหตุสำคัญที่ PM2.5 ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม
มีการศึกษาที่ยืนยันว่า PM2.5 รวมทั้งมลภาวะชนิดอื่นในอากาศมีผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง โดยเมื่อร่างกายเราได้รับสารพิษเหล่านี้เข้าไป จะไปกระตุ้นการอักเสบในร่างกายไปจนถึงการอักเสบของเซลล์สมอง ส่งผลให้การทำงานของเซลล์สมองผิดปกติไป เกิดการตกค้างของสารพิษภายในเซลล์จนส่งผลให้มีปัญหาถึงสมองเสื่อมได้
จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาจากงานวิจัยในหัวข้อ Long-term effects of PM 2.5 components on incident dementia in the Northeastern United States ซึ่งทำการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 7 ปี ในคนอายุ มากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปี จำนวน 2,000,000 คน ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มี PM 2.5 พบว่าเพิ่มโอกาสของการเกิด Dementia ถึง 16% ในทุก ๆ 10µg/m3 ของ PM2.5 หน่วยนี้ก็คือหน่วยวัด PM2.5 ในบ้านเราเช่นกัน ใช้หน่วยเดียวกัน บางวัน PM2.5 ขึ้นไปถึง 100µg/m3 อันนี้ก็ต้องลองจินตนาการกันเองว่าเซลล์สมองเราจะเจ็บป่วยไปขนาดไหน เรื่องที่น่าตกใจคือ ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในการศึกษาวิจัยชิ้นนี้อยู่แค่เพียง 8.8 µg/m3 ในบ้านเราก็มีเฉพาะบางเดือนที่ขึ้นไปถึง 100+ µg/m3 บางเดือนดี ๆ อาจจะแค่ 10-20µg/m3
ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่ออยากให้ตระหนักถึงปัญหาของ PM2.5 ที่ส่งผลมาถึงสมองได้ร้ายแรงอย่างที่คาดไม่ถึง คนส่วนใหญ่จะทราบแค่เพียงส่งผลกับทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ แต่จริง ๆ แล้วสมองก็บาดเจ็บไม่แพ้กัน
มลพิษเหล่านี้ นอกจากจะทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดและทางเดินหายใจ มีการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การสัมผัสฝุ่น PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจาก PM2.5 กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เกิดอนุมูลอิสระ ทำให้เซลล์ประสาทและสมองได้รับความเสียหาย
ค่าเฉลี่ยของ PM2.5 ในกรุงเทพตลอดทั้งปี มีระดับสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดอยู่ถึง 4-5 เท่า จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องตระหนักและป้องกันผลเสียจากฝุ่นละอองเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจและทางเดินหายใจ
การดูแลตัวเองมลพิษทางอากาศ PM2.5
- การเฝ้าระวังระดับมลพิษทางอากาศอยู่เป็นประจำ เช่น การใช้แอพพลิเคชั่น Air Quality Index
- พยายามอยู่ในบ้านหรืออาคารที่ปิดมิดชิด ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มี HEPA filter
- เมื่อออกไปข้างนอกควรสวมใส่หน้ากาก N95
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมและออกกำลังกายกลางแจ้ง
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่ามลภาวะ PM2.5 ในอากาศมีผลกระทบต่อร่างกายในหลายระบบ การหลีกเลี่ยงเข้าไปในสถานที่ที่มีฝุ่นขนาดจิ๋วในปริมาณสูง การใช้เครื่องป้องกันอย่างเหมาะสม การรับประทานผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระในจำนวนที่เพียงพอ รวมถึงความตระหนักในการช่วยลดมลภาวะในอากาศมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพของตัวเราเองและคนที่เรารัก
ที่มา: arunhealthgarden.com