Shopping cart

เข้าสู่ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยที่สุดของประเทศไทย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน ยิ่งช่วงก่อนที่ฝนจะตกอากาศทั้งร้อนทั้งอบอ้าว ซึ่งอาจส่งผลให้พบ “โรคลมแดด” ได้บ่อยขึ้น

หรือที่เราเรียกอีกอย่างว่า ภาวะฮีทสโตรก (heat stroke)  มาเรียนรู้กันว่าอาการของโรคลมแดดเป็นอย่างไร สัญญาณเตือนที่ควรสังเกตมีอะไรบ้าง และจะสามารถป้องกันโรคลมแดดได้อย่างไร

       ภาวะฮีทสโตรก (heat stroke) มักเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงตั้งงแต่ 40 องศาเซลเซียสเป็นต้นไป (104 ฟาเรนไฮต์) จะส่งผลทำให้สมอง ปอด หัวใจ ไต กล้ามเนื้อ และอวัยวะสำคัญอื่นๆ เสียหายได้ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ล่าช้าจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย โดยบางรายถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงจัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

       โดยมีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดฮีทสโตรก เช่น ภาวะขาดน้ำ การอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน และการออกกำลังกายอย่างหนัก รวมถึงผู้สูงอายุ ผู้มีน้ำหนักเกิน หรือมีโรคประจำตัว ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน

 

ภาวะฮีทสโตรกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1) ภาวะฮีทสโตรก (heat stroke) ที่ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก (classical heatstroke or non-exertional heatstroke: NEHS) โรคลมแดดประเภทนี้เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่มากเกินไป มักพบได้ บ่อยในผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังซึ่งทำให้ไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนและการขาดน้ำได้

ภาวะฮีทสโตรกประเภทนี้ยังสามารถเกิดขึ้นกับคนในทุกๆ วัย โดยเกิดจากยารักษาโรคบางชนิด หรือ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย

2) ภาวะฮีทสโตรก ที่เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก (exertional heatstroke: EHS) เช่น การออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป มักเกิดขึ้นกับคนอายุน้อย นักกีฬา และทหารเกณฑ์ที่ฝึกหนักในอากาศร้อนจัดและสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง

 

 

วิธีป้องกันภาวะฮีทสโตรก

  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ โดยอาจดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่กลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางแจ้ง ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร ถึงแม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี
  • สวมหมวกและใช้ครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด
  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดและออกกำลังในวันที่อากาศร้อนจัด หากคุณทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้งในสภาพอากาศร้อน ให้หยุดพักบ่อยๆ ในที่ร่มและเย็น เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดฮีทสโตรก
  • ในเด็กเล็กและคนชรามีความเสี่ยงในการเกิดฮีทสโตรกมากเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง

       ที่สำคัญคือการเฝ้าระวังสัญญาณของฮีทสโตรก ได้แก่ อุณหภูมิร่างกายสูง หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน และแม้กระทั่งชัก

สิ่งที่ควรทำหากพบผู้ป่วยที่สงสัยเป็นภาวะฮีทสโตรก

  • โทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉิน 1669 และสามารถขอคำแนะนำในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้อีกด้วย
  • ควรนำผู้มีอาการเข้าที่ร่ม 
  • ปฐมพยาบาลเบื้องต้น : จัดท่านอนราบและยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน และเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด
  • รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

 

 

ที่มา: arunhealthgarden.com

ใส่ความเห็น

กุมภาพันธ์ 2025
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728