Shopping cart

มาทำความเข้าใจที่มาของการเสพติดเชิงบวก

เพื่อที่จะเข้าใจ Positive Addiction

 

       เมื่อพูดถึงคำว่า การเสพติด หรือ Addiction บ่อยครั้งที่เรามักจะนึกโยงไปถึงเสพติดอะไรที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ดีต่อจิตใจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเสพติดเกม เสพติดเครื่องดื่มมึนเมา หรือเสพติดความเจ็บปวด แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถเสพติดอะไรที่ดีต่อตัวเองได้เหมือนกัน

คำว่า Positive Addiction ถูกนำมาตีความโดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ชื่อว่า William Glasser ซึ่งเขาเคยเขียนไว้ในหนังสือที่ใช้ชื่อเดียวกัน

      William Glasser มีหนังสือขายดีอีกเล่ม ที่ชื่อว่า Reality Therapy ซึ่งพูดถึงการบำบัดด้วยการให้คำปรึกษาแบบเผชิญหน้าความจริง เพราะเขาเชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล และปัญหาส่วนใหญ่ที่เรา ๆ เจอกันอยู่ทุกวันนี้ ก็มาจากการตัดสินใจของตัวเราเองทั้งนั้น ซึ่งข้อคิดนี้มาจากทฤษฎีที่เรียกว่า “Choice Theory” ของเขาเช่นกัน ซึ่งระบุว่ามนุษย์เรามีอำนาจในการควบคุมทุกความรู้สึกและการกระทำของเรานั่นแหละ (ยกเว้นในบางกรณีเช่นความกลัว หรือความตื่นกลัวส่งผลต่อการเลือกกระทำ)

      พูดง่าย ๆ ก็คือ Glasser เชื่อว่าเราทุกคนกำหนดความคิดของตัวเองได้ และเมื่อเราคิดอะไรในหัว เราก็จะปฏิบัติตัวออกมาตามความคิดนั้น ๆ นั่นแปลว่าเราคือคนที่ต้องรับผิดชอบผลของการกระทำของตัวเอง และหากเราสามารถจัดการความคิดของตัวเองได้ เราก็สามารถเลือกผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย

      แต่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แน่นอนว่าการคุมความคิดความรู้สึกตัวเองมันไม่ใช่เรื่องง่ายสักนิด และมีบ่อยครั้งที่มนุษย์เข้าโหมด “อ่อนแอ” จนไม่สามารถควบคุมความคิดของตัวเอง และปล่อยให้ความคิดและความรู้สึกส่งผลต่อการกระทำของเรา นำไปสู่อาการอย่างความเครียดจนปวดหัวเรื้อรัง อาการซึมเศร้า และเราจึงพยายามปกปิด หรือบรรเทาความรู้สึกนั้น ๆ ด้วย “การเสพติด” ตัวช่วยอย่างเครื่องดื่มมึนเมา สารเสพติด หรือการพนันที่เราเข้าใจว่ามันสามารถเยียวยาความรู้สึกเราได้ แต่จริง ๆ แล้วมันกลับส่งผลเสียต่อตัวเรามากยิ่งขึ้นแทน

 

      ในขณะที่ Positive Addiction คือพฤติกรรมที่สามารถช่วยให้เราดีขึ้นได้จริงในระยะยาว และทำให้เรา “เข้มแข็ง” ในการคิด และตัดสินใจในอนาคตมากขึ้น โดย Positive Addiction เหล่านั้นอาจเป็นอะไรก็ได้ที่เราตั้งมันขึ้นมา โดยการสร้างนิสัย Positive Addiction มีเกณฑ์คร่าว ๆ อยู่ดังนี้

  • เป็นสิ่งที่เราเลือกทำเอง ไม่ใช่การแข่งขัน และเราพร้อมทำมันราว ๆ วันละ 1 ชั่วโมง
  • เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้อย่างไม่ยากเย็น และไม่ต้องใช้ความพยายามทางจิตใจในการบังคับตัวเองเพื่อทำ
  • เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้คนเดียว (หรืออาจจะทำร่วมกับผู้อื่นได้ แต่ต้องไม่พึ่งพาผู้อื่น)
  • เป็นสิ่งที่เราเชื่อว่ามันมีคุณค่ากับตัวเราเอง ไม่ว่าจะมีคุณค่าต่อร่างกาย หรือจิตใจก็ตาม
  • เป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าถ้าเราหมั่นทำบ่อย ๆ เราจะพัฒนาขึ้น
  • เป็นสิ่งที่เราทำแล้วไม่วิจารณ์ตัวเอง และต้องรับตัวเองให้ได้ตอนทำสิ่งนั้น ๆ

       โดยตัวอย่างของ Positive Addiction มีมากมายทั้งการนั่งสมาธิ เล่นโยคะ ออกกำลังกาย วาดรูป อ่านหนังสือ ทำอาหาร หรือแม้กระทั่งสิ่งง่าย ๆ อย่างการเดิน การเสพติดเชิงบวกอาจจะใช้เวลามากกว่า แต่ไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำตลอดชีวิตจนมากเกินไปเช่นกัน โดยเราสามารถเปลี่ยนกิจกรรมนั้น ๆ ได้แล้วแต่ความต้องการของตนเองในเวลานั้น ๆ

 

คำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับคนอยากลอง Positive Addiction

  • นำกระดาษหรือสมุดจดมา และเขียนบันทึก “สิ่งที่คิดว่าเป็น Positive Addiction ในอดีตของเรา”
  • อีกหน้าให้ลองบันทึก “Positive Addiction ที่เราเคยทำในอดีต และคิดว่าอยากลองทำต่อ”
  • เมื่อเวลาผ่านไป ให้กลับมาบันทึกอีกครั้ง และดูว่า “ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากทำ Positive Addiction นั้น ๆ คืออะไร”

 

      บางครั้งความอ่อนแอก็มากเกินกว่าจะเปลี่ยนแปลงนิสัยตัวเองได้ หรือทุกครั้งที่เศร้า จะอ้างกับตัวเองว่าไม่มีแรงพอที่จะไปทำอย่างอื่นที่เขียนบันทึกไว้ให้สำเร็จ เรามักจะมีข้ออ้างให้ตัวเองเสมอเพื่อไม่ทำในสิ่งนั้น แต่เมื่อไรที่เราเชื่อในตัวเองและมีความเข้มแข็งพอที่ทำอะไรที่เราเชื่อว่าดีต่อตัวเองจริง ๆ วันหนึ่งเราอาจจะได้นิสัยใหม่ที่กลายเป็น Positive Addiction ให้ตัวเองได้

 

ที่มา: krungsri.com

ใส่ความเห็น

ธันวาคม 2024
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031