ปัจจุบันหลายคนหันมาใส่ใจเรื่องการกินอาหารมากขึ้น ทั้งการกินอาหารคลีน การทำ IF (Intermittent Fasting) การกินคีโต (Ketogenic Diet) หรืออื่นๆ จนบางท่านอาจใส่ใจมากเกินไป จนกลายเป็นความกังวลต่อการกินอาหาร กังวลต่อรูปร่างและน้ำหนักตัวจนทำให้เกิดพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ หรือที่เรียกว่า อาการ Eating Disorder
Eating Disorder หลายคนอาจไม่คุ้นกับชื่อของกลุ่มโรคนี้ แต่หากพูดถึงโรคคลั่งผอมหรือโรคกินไม่หยุด อาจจะร้องอ๋อ! ขึ้นมาบ้าง ซึ่งทั้ง 2 โรค ดังกล่าวนั้นถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มอาการความผิดปกติของพฤติกรรมการกินที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงแค่ 2 โรคนี้เท่านั้น แต่จะมีโรคอะไรบ้าง รวมถึงมีอาการและสาเหตุมาจากอะไร
Eating Disorders คืออะไร ?
Eating Disorder คือพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติไป ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะมีความกังวลต่ออาหารที่จะกินเข้าไปไม่ว่าเรื่องของน้ำหนักตัว หรือรูปร่าง โดยภาวะเหล่านี้ส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ เช่น โรคขาดสารอาหาร โรคอ้วน โรคเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูก โรคที่เกี่ยวกับต่อมไร้ท่อและฮอร์โมน เป็นต้น ซึ่งหากปล่อยไว้มีโอกาสที่จะรุนแรงมากขึ้นและอาจร้ายแรงต่อชีวิตได้ โดยภาวะ Eating Disorder หรือความผิดปกติของพฤติกรรมการกินสามารถเกิดขึ้นได้หลายโรค ซึ่งสามารถแบ่งได้จากความผิดปกติของพฤติกรรมการกินดังต่อไปนี้
Eating Disorder “โรคกินไม่หยุด”
ความผิดปกติของพฤติกรรมการกิน สามารถเป็นโรคอะไรได้บ้าง
-
โรคคลั่งผอม (Anorexia Nervosa)
เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีภาวะกังวลต่ออาหารที่กินเข้าไป กังวลเรื่องรูปร่างและน้ำหนักว่าจะทำให้ดูอ้วนจึงไม่ยอมกินอาหารใดๆ ปฏิเสธการกินอาหารว่าไม่หิว ทั้งที่จริงๆ ร่างกายหิวและต้องการอาหาร ซึ่งอาการของโรคคลั่งผอมนี้นอกจากพฤติกรรมการไม่ยอมกินอาหารแล้ว ยังสังเกตได้จากร่างกายที่ซูบผอม หนาวง่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เวียนหัว ประจำเดือนขาดหรือมาไม่ปกติ เป็นลมได้ง่ายเนื่องจากการขาดน้ำ รวมไปถึงผมร่วง ผิวแห้ง เล็บฉีกขาดได้ง่ายอีกด้วย ซึ่งจะต่อยอดให้ร่างกายเป็นโรคขาดสารอาหาร โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคสมอง หรืออวัยวะภายในทำงานล้มเหลวได้
-
โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder (BED)
เป็นโรคที่มีอาการตรงกันข้ามกับโรคคลั่งผม ซึ่งผู้ป่วยโรคกินไม่หยุดมักจะกินอาหารครั้งละมากๆ กินอย่างรวดเร็ว กินเยอะ กินจุ หากไม่รู้สึกอิ่มหรือไม่แน่นท้องก็จะไม่หยุดกิน แล้วจากนั้นก็จะรู้สึกผิด ซึมเศร้าที่ตัวเองกินมากไป แต่ก็ไม่สามารถสั่งร่างกายให้หยุดกินอาหารได้ ในบางรายอาจล้วงคอเพื่อเอาอาหารออก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคนี้มักเสพติดการลดน้ำหนัก เครียด เคยล้มเหลวในการลดน้ำหนัก หรือพบเจอเรื่องสะเทือนใจมากจึงทำให้มีพฤติกรรมเหล่านี้ สุดท้ายอาจส่งผลให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดได้
-
โรคล้วงคอ (Bulimia Nervosa)
เป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้ทั้งโรคคลั่งผอมและโรคที่กินไม่หยุด ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้มักเป็นกลุ่มคนที่มีความกังวลเรื่องของน้ำหนักและรูปร่าง โดยเป็นภาวะที่เมื่อจิตใจรู้สึกผิดต่อการกินอาหารที่กินเข้าไป ทำให้ทุกครั้งหลังกินอาหารจะต้องไปล้วงคอเพื่อเอาอาหารออกมา หรือบางคนอาจใช้ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ สวนทวารและออกกำลังอย่างหนักเพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อระบบการย่อยอาหารให้ทำงานผิดปกติได้ ไม่สามารถกินอะไรได้ตามปกติ ร่างกายต่อต้านการกินอาหาร เป็นกรดไหลย้อน ฟันผุจากกรดในกระเพาะอาหารที่ทำลายผิวเคลือบฟันขณะที่อาเจียนอาหารออกมา ท้องเสีย รวมถึงฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน ซึ่งจะส่งผลต่อทุกระบบในร่างกายให้ทำงานผิดปกติและอาจอันตรายต่อชีวิตได้
-
โรคเลือกกินอาหาร (Avoidant / Restrictive Food Intake Disorder)
โรคนี้เป็นโรคที่มักพบได้บ่อยในเด็ก แต่ในผู้ใหญ่ก็สามารถพบได้เช่นกัน โดยผู้ป่วยจะหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสชาติ สีสัน เนื้อสัมผัสที่ไม่ชอบ หรืออาหารที่ฝังใจในด้านไม่ดีและแสดงออกด้วยความกลัว สำลัก อาเจียน ท้องเสีย หรือเกิดอาการแพ้อาหารขึ้นมาได้ ซึ่งโรคนี้อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายได้
-
โรคคลั่งกินคลีน (Orthorexia Nervosa)
ในปัจจุบันการดูแลสุขภาพด้วยการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพในปริมาณที่เหมาะสมถือเป็นเรื่องที่ดีต่อร่างกาย แต่สำหรับผู้ป่วยโรคคลั่งกินคลีนจะมีภาวะที่ต้องกินคลีนตลอดเวลา จะเลือกกินเฉพาะอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ต้องอ่านฉลากโภชนาการ เช็กส่วนประกอบ หรือส่วนผสมของอาหารทุกครั้งก่อนกิน และเครียดทุกครั้งเมื่อต้องกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทำให้ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักเป็นโรคขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย จนทำให้ระบบการทำงานของร่างกายทำงานผิดปกติและก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้
พฤติกรรมการกินผิดปกติเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ซึ่งหากใ ครที่กังวลว่าตัวเอง หรือคนใกล้ตัวอาจมีอาการของโรคดังกล่าว สามารถเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้
ที่มา: vimut.com