วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ฯพณฯ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) อย่างเป็นทางการตามคำเชิญของ ฯพณฯ สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว
การเยือนอย่างเป็นทางการครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์พิเศษระหว่างไทยและ สปป. ลาว ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในระดับประชาชน การเยือนครั้งนี้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างทั้งสองประเทศ
นอกจากการหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว แล้ว นายกรัฐมนตรีไทยยังได้เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ ทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศแห่ง สปป.ลาว และเลขาธิการพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และเข้าพบ ฯพณฯ ไซสมพอน พมวิหาน ประธานรัฐสภา สปป.ลาว
![นายกรัฐมนตรีไทย](https://kdc-x.com/wp-content/uploads/2023/11/Thailand-Laos-3-1024x683.jpg)
ฯพณฯ เศรษฐา ทวีสิน จับมือกับ ฯพณฯ สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว
ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นในการทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาความร่วมมือทวิภาคีในทุกมิติ จะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างทั้งสองประเทศเป็นประจำ และทั้งสองฝ่ายจะกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การพัฒนา และประชาชน
ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่มีมูลค่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี พ.ศ. 2568 ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ดีขึ้น การขยายเครือข่าย SMEs ข้ามพรมแดน และการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างจังหวัดชายแดนของทั้งสองประเทศ
ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเร่งรัดกระบวนการเริ่มการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่บริเวณจุดผ่านแดนหนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์โดยเร็วที่สุดภายในปี พ.ศ. 2569 เพื่อรองรับการเติบโตของการขนส่งสินค้าทางรางข้ามพรมแดนระหว่างไทย – ลาว – จีน
นายกรัฐมนตรีแห่งราชราอาณาจักรไทยเข้าคารวะ ฯพณฯ ทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ
ในระหว่างการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองเป็นประธานในพิธีเปิดสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสองผ่านทางสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ (สพพ.) ของไทย เพื่อเชื่อมโยงระบบรางทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น การให้บริการรถไฟครั้งแรกจากสถานีหนองคายไปยังสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ที่สร้างขึ้นใหม่ในนครหลวงเวียงจันทน์ชั้นในจะเริ่มในปี พ.ศ. 2567 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามพรมแดนมากขึ้น
ทั้งสองฝ่ายพอใจกับความคืบหน้าของการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ซึ่งขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จเกือบร้อยละ 90 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสะพานจะเปิดได้ในอนาคตอันใกล้นี้
โดยตั้งตารอโครงการอื่นๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเพิ่มการเชื่อมโยงที่ดียิ่งขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศและภูมิภาค รวมถึงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) และการปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (R12) ) จากชายแดนไทย-ลาวที่จังหวัดนครพนม-เมืองท่าแขก ถึงชายแดนลาว-เวียดนามที่ด่านนาเปา -จ๋าโหละ (Na Pao-Cha Lo)
นายกรัฐมนตรีเข้าหารือกับประธานสภา สปป.ลาว
ในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขนถ่ายสินค้าทางถนนและทางรถไฟ เพื่อส่งเสริมการค้าระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดการจัดตั้งเขตพื้นที่ควบคุมร่วม (CCA) เพื่อลดขั้นตอนศุลกากรในการขนส่งข้ามพรมแดน ณ สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักระหว่างไทย – ลาว – เวียดนาม
ในด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายจะสรุปแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน และทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ร่วมกับปีแห่งการท่องเที่ยว สปป. ลาว 2024” (Visit Laos Year 2024)
หน่วยงานด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพตามแนวชายแดน และจัดการกับอาชญากรรมข้ามชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการค้ายาเสพติดและการหลอกลวงทางออนไลน์ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงชายแดนระหว่างไทยและสปป.ลาวฉบับปรับปรุงมีกำหนดลงนามภายในสิ้นปีนี้
นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศเป็นประธานในพิธีเปิดสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด)
ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในประเด็นปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปแผนปฏิบัติการร่วมไตรภาคี – ยุทธศาสตร์ฟ้าใสระหว่างไทย สปป. ลาว และเมียนมาร์ภายในสิ้นปีนี้ ประเทศไทยจะสนับสนุนการพัฒนาแผนที่ความเสี่ยงด้านอัคคีภัยของ สปป. ลาว และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการควบคุมไฟป่าและการเผาพืชผล
ฝ่ายลาวแสดงความขอบคุณไทยที่ไทยยังคงร่วมมือพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนตลอดจนสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
ทั้งสองฝ่ายถือโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคที่มีความสนใจและข้อกังวลร่วมกัน นายกรัฐมนตรีไทยแสดงความมั่นใจและสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของ สปป. ลาว ในปี พ.ศ. 2567 ไทยและ สปป. ลาว จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีและความเหนียวแน่นของอาเซียน และรักษาบทบาทสำคัญของอาเซียนในการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาในภูมิภาค ท่ามกลางความไม่แน่นอนระหว่างประเทศ
นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาวให้การต้อนรับคณะ ท่านนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
ภายหลังการหารือทวิภาคีแล้ว นายกรัฐมนตรีทั้งสองเป็นประธานในพิธีส่งมอบและเป็นสักขีพยานในการลงนามเอกสาร ดังนี้
(1) ส่งมอบศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ณ โรงเรียนเทคนิค-วิชาชีพ แบบผสม แขวงอัตตะปือ (Attapeu Integrated Vocational Education and Technical School)
(2) ส่งมอบสวนรุกขชาติมิตรภาพเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ลาว
(3) การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมไทยกับกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว สปป. ลาว และ
(4) การลงนามบันทึกการสนทนาระหว่าง สพพ. กับการรถไฟแห่งชาติลาวเพื่อความช่วยเหลือด้านเทคนิคในการเสริมสร้างขีดความสามารถระบบขับเคลื่อนหัวรถจักรและระบบจำหน่ายตั๋ว และการพัฒนารูปแบบธุรกิจสำหรับการรถไฟแห่งชาติลาว
ที่มา www.mfa.go.th