ซัลวาดอร์ ดาลี ศิลปินผู้สร้างผลงานแนวเหนือจริงหรือเซอร์เรียลิสม์ชื่อก้องโลก รวมทั้งโทมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์คนสำคัญผู้คิดค้นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อมนุษยชาตินับพันชิ้น ต่างก็ใช้วิธีงีบหลับพักผ่อนแบบพิสดาร ซึ่งพวกเขาอ้างว่าช่วยให้การใช้ความคิดและจินตนาการโลดแล่นไร้ติดขัดเมื่อตื่นขึ้น
เทคนิคการงีบหลับให้มีคุณภาพ
เทคนิคงีบหลับแบบพิเศษ คือ การเอนตัวลงผ่อนคลายบนเก้าอี้หรือโซฟาในลักษณะกึ่งนั่งกึ่งนอน จากนั้นให้กำวัตถุเช่นช้อนโลหะ ลูกบอล หรือสิ่งใดก็ตามที่จะทำให้เกิดเสียงดังเมื่อตกกระทบพื้นเอาไว้ในมือ โดยยื่นมือออกพ้นขอบเก้าอี้หรือโซฟานั้น
เมื่อผ่อนคลายได้สักครู่หนึ่งและเริ่มผล็อยหลับ วัตถุที่กำไว้ในมือจะตกสู่พื้นและส่งเสียงปลุกผู้ที่กำลังงีบหลับให้ตื่นขึ้นมา แม้ในขณะนั้นจะรู้สึกงัวเงียอยู่บ้าง แต่คนผู้นั้นจะพร้อมทำงานที่ค้างไว้โดยเกิดไอเดียใหม่ ๆ หรือพบวิธีแก้ปัญหาที่ดีขึ้นสำหรับงานนั้นทันที
วิธีงีบหลับได้ผลจริงหรือไม่?
ล่าสุดทีมวิจัยของฝรั่งเศสได้ทดสอบเทคนิคงีบหลับดังกล่าว และได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสาร Science Advances ฉบับวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสมองกรุงปารีส (ICM) พบว่า วิธีงีบหลับแบบเหล่าอัจฉริยะของโลกนี้ ได้ผลอย่างที่พวกเขาบอกไว้จริง
มีการทดลองให้คนทั่วไปที่สุขภาพดี มีระดับสติปัญญาปานกลางและนอนหลับง่าย 103 คน ได้งีบหลับด้วยวิธีพิเศษนี้ โดยมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงที่บ่งชี้ว่าคนผู้นั้นอยู่ในภาวะการนอนหลับขั้นใดแล้ว
ก่อนจะให้กลุ่มทดลองเอนกายลงพักผ่อน นักวิจัยได้ให้พวกเขาทำโจทย์คณิตศาสตร์ โดยจะบอกวิธีทำให้ 2 วิธี แต่ก็ยังมีวิธีแก้ปัญหาอีกแบบหนึ่งซ่อนอยู่ในโจทย์ ซึ่งหากผู้เข้าร่วมการทดลองมองออกหรือค้นพบวิธีนี้ ก็จะสามารถทำโจทย์ได้รวดเร็วขึ้นอย่างมาก
ดร. เดลฟีน อูเดียตต์ ผู้นำทีมวิจัยอธิบายว่า “ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้มีอยู่แค่ในงานศิลปะอย่างที่คนทั่วไปมักเข้าใจกัน แต่มันคือไหวพริบและการหยั่งรู้ถึงแนวคิดใหม่ ๆ ที่ตนเองไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน โดยความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นประโยชน์ต่องานที่ทำอยู่ ซึ่งในกรณีของเราแล้ว การวัดระดับความคิดสร้างสรรค์หลังตื่นนอนขึ้นอยู่กับการแก้โจทย์เลขโดยใช้วิธีที่ซ่อนไว้”
ผลปรากฏว่าเมื่อกลุ่มทดลองตื่นและกลับมาทำโจทย์เลขอีกครั้ง มีคนจำนวนหนึ่งที่ทำได้ดีขึ้นเนื่องจากมองเห็นวิธีแก้โจทย์ที่ซ่อนอยู่ โดยผลการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองชี้ว่า คนเหล่านี้ได้เคลิ้มหลับไปจนตกอยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น (hypnagogia) หรือขั้นตอนหนึ่งของการนอนหลับที่เรียกว่า N1 เป็นเวลาอย่างน้อย 15 วินาที ซึ่งคนที่งีบหลับได้ในลักษณะนี้จะมีโอกาสถึง 83% ที่จะค้นพบวิธีแก้โจทย์เลขที่ถูกซ่อนไว้ ส่วนกลุ่มที่นอนไม่หลับระหว่างการทดลอง มีโอกาสดังกล่าวน้อยกว่าเพียง 30% เท่านั้น
คนเราใช้เวลานอนหลับในขั้น N1 เพียง 5% ของแต่ละคืน โดยในขั้นนี้เราจะสามารถจินตนาการถึงรูปทรง สี และภาพความฝันต่าง ๆ ได้ ในขณะที่ยังได้ยินเสียงในโลกแห่งความเป็นจริงไปพร้อมกันด้วย ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้สมองได้เกิดการเชื่อมโยงแปลก ๆ ที่มักไม่เกิดขึ้นในขณะตื่นอยู่ ซึ่งเป็นที่มาของความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง
“เคล็ดลับก็คือ คุณจะต้องผล็อยหลับง่าย แต่ไม่เผลอหลับลึกจนเกินไป”
เพราะหากวงจรการนอนหลับพ้นจากขั้น N1 เข้าสู่ขั้น N2 ที่เป็นการหลับลึกแล้ว โอกาสเกิดความคิดสร้างสรรค์ก็จะหายไปทันที ดร. อูเดียตต์ กล่าว
วิธีงีบหลับก็มีประโยชน์ หากเรารู้เทคนิคในการงีบหลับเพื่อการพักผ่อนสมองที่ไม่เสียเวลาเปล่า ได้เทคนิคที่จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์แล้ว สามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานและชีวิตประจำวันได้เลย และนี่อาจจะเป็นอีกทางออกของคนทำงานอย่างเราก็ได้
ที่มา: bbc.com