Shopping cart

       โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ รวมถึงจมูก ลําคอ และปอด โดยเป็นคนละสายพันธุ์กับไวรัสซึ่งทำให้เกิดโรคไวรัสลงกระเพาะอาหาร อันเป็นสาเหตุของอาการท้องเสียและอาเจียน

       โดยปกติแล้วผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สามารถหายได้เอง แต่ในบางครั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้ถึงแก่ชีวิต

สังเกตอาการโรคไข้หวัดใหญ่ อย่างไรให้รู้เท่าทัน?

       อาการของไข้หวัดใหญ่นั้น โดยทั่วไปก็จะไม่ต่างจากไข้หวัดสักเท่าไร หากแต่มีอาการที่รุนแรงกว่า โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่าอาการที่เราเป็นอยู่นั้นไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดาแต่เป็นไข้หวัดใหญ่ ประกอบไปด้วย

  • มีไข้สูงมากกว่าปกติ คือตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • มีอาการปวดศีรษะ หนาวสั่น อ่อนเพลีย
  • มีน้ำมูกไหล คัดจมูก เจ็บคอ มีอาการไอ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตามร่างกาย แขน ขา ตามตัว
  • ไข้หวัดใหญ่ส่วนมากจะมีระยะเวลาอาการของโรค 5 วัน หากมีอาการนานกว่านั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อของแบคทีเรียแทรกซ้อนที่พบได้ในบางราย

       นอกจากอาการดังที่กล่าวไปแล้ว ไข้หวัดใหญ่ยังอาจรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งที่พบบ่อยมากที่สุดเลยก็คือ “ภาวะปอดบวม” และ “หลอดลมอักเสบ” ดังนั้น หากสังเกตพบอาการไข้หวัดที่รุนแรงกว่าปกติ อย่าชะล่าใจว่าเป็นแค่หวัดธรรมดา แต่ควรรีบพบแพทย์ดีกว่า จะได้รักษาได้ทันท่วงที

 

โอกาสเสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั้ง 2 สายพันธุ์ ?

       เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่ระบาดติดต่อกันได้ผ่านการไอ จาม พูดคุย แล้วสูดเอาละอองที่มีเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น “ทุกคน” จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ทั้งหมด ซึ่งจะติดเชื้อได้ง่ายมาก-น้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่ความ 2 ปัจจัยหลักๆ คือ ความรุนแรงและปริมาณของเชื้อ ประกอบกับสภาพร่างกายของเรา คือถ้าร่างกายเราไม่แข็งแรงแล้ว ต่อให้เชื้อไม่ดุมีปริมาณน้อย เราก็อาจติดเชื้อและเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบุคคลกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ ต้องยิ่งระมัดระวัง เพราะมีโอกาสเกิดภาวะรุนแรงแทรกซ้อนมากที่สุด

  • เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี
  • ผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้ที่ปอดไม่แข็งแรง เป็นโรคในระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว
  • ผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว ต้องทานยาอยู่เสมอ
  • ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม

ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์

       การดูแลและป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากไข้หวัดใหญ่นั้น สามารถทำได้ในแนวทางเดียวกันกับโรคระบบทางเดินหายใจทุกชนิด คือ

  • ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร
  • ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกันกับผู้อื่น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่
  • ใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอจาม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
  • สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปยังสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน อาทิ ห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้า และโรงภาพยนตร์ เป็นต้น
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส เบิกบาน ไม่เครียด
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์  ซึ่งปัจจุบันถือเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ช่วยลดโอกาสป่วย ลดความรุนแรงของโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดโอกาสในการเสียชีวิต ตลอดจนช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้มากกว่า

       ไข้หวัดใหญ่ดูเหมือนจะเป็นโรคธรรมดาๆ ที่ใครๆ ก็คุ้นเคย และรู้สึกว่าไม่น่ากลัวเท่าไรนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วมีความรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในคนที่สุขภาพไม่แข็งแรง และในเด็กเล็ก ดังนั้น การไม่ประมาทกับคำว่า “ไข้หวัด” ไม่เห็นเป็นแค่โรคธรรมดา เล็กน้อย จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนพึงมี และทางที่ดีที่สุด ก็คือ ควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเอาไว้ จะได้ช่วยให้เรามีสุขภาพแข็งแรงตลอดปี ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่เจอไข้หวัดใหญ่รบกวน ไม่ต้องเสียสุขภาพกาย สุขภาพใจ เสียค่ารักษาพยาบาล และเสียโอกาสในการทำงาน

 

ที่มา: bangkokhospital.com

ใส่ความเห็น

กันยายน 2024
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30  
X