Shopping cart

แค่ไหนจึงเรียกว่า … “ภาวะหมดไฟ” 

    ภาวะหมดไฟ หรือที่เรียกว่า Burnout ในการทำงานนั้นบางครั้งก็ยากที่จะแยกแยะ แต่ถ้าลองสังเกตอาจจะพบกับสัญญาณเตือน ที่หลาย ๆ คนยังไม่รู้ว่าเรากำลังเข้าสู่อาการหมดไฟอยู่หรือเปล่า

 

ซึ่งแบ่งลักษณะอาการออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่

1) อาการทางอารมณ์ มีความรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง สูญเสียพลังจิตใจ

2) อาการทางความคิด มีทัศนคติเชิงลบต่อความสามารถในการทำงานของตัวเอง ไม่มั่นใจในตัวเองเหมือนอย่างก่อน 

3) มีประสิทธิภาพการทำงานที่น้อยลง ไม่สนิทกับใครในที่ทำงาน และคิดลบกับพวกเขา

 

       เรามาทำความรู้จักอาการ “หมดไฟ” กันก่อน จริง ๆ แล้วอาการหมดไฟเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Burnout Syndrome หรือการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงานและไม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

ระยะต่าง ๆ ในการทำงาน ก่อนจะ “หมดไฟ”

1. ระยะฮันนีมูน (The Honeymoon) เป็นช่วงเริ่มต้นที่เต็มไปด้วยความตั้งใจ พร้อมเสียสละ พยายามปรับตัวให้เข้ากับงาน เพื่อนร่วมงาน และองค์กร ต่อมาเป็น 

2. ระยะรู้สึกตัว (The Awakening) หลังจากเวลาผ่านไปก็เริ่มรู้สึกว่า ความคาดหวังและความเป็นจริงนั้นแตกต่างกัน งานไม่ตอบสนองกับความต้องการของตัวเอง ทั้งยังอาจรู้สึกผิดพลาดและจัดการอะไรไม่ได้ กลายเป็นความรู้สึกคับข้องใจและเหนื่อยล้า

3. ระยะไฟตก (Brownout) รู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง หงุดหงิดง่ายขึ้น บางคนอาจจะหนีโดยเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา ฯลฯ ความสามารถในการทำงานลดลง บ้างก็แยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน และวิพากษ์วิจารณ์องค์กร 

4. ระยะหมดไฟเต็มที่ (Full Scale of Burnout) ในลำดับถัดมา ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง ล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจ 

5. ระยะฟื้นตัว (The Phoenix Phenomenon) เกิดขึ้นหลังจากที่มีโอกาสพักผ่อนหรือผ่อนคลายอย่างเต็มที่ สามารถปรับตัวปรับความคาดหวังต่องานให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น มีแรงบันดาลใจและเป้าหมายในการทำงานต่อไป

 

 

4 วิธีฮีลตัวเอง จากอาการหมดไฟ

1. จัดระเบียบชีวิตใหม่ ให้ไม่ยุ่งเหยิง

       หากใครที่กำลังสงสัยหมดไฟ แก้ยังไง เริ่มด้วยวิธีนี้ดีที่สุด จัดระเบียบชีวิตมันก็เป็นสิ่งง่าย ๆ ที่เราสามารถทำได้เลยทันที โดยเราอาจจะเริ่มจากจัดสิ่งของที่เราจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันให้เป็นระเบียบ เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เราปล่อยมันไว้ไม่เป็นที่เป็นทางแล้วหากเราจำเป็นต้องใช้มันเราก็มักจะหามันไม่เจอ ก็จะส่งผลให้เรานั้นร้อนรนจนทำให้รู้สึกอารมณ์ไม่ดี และผลที่ตามมาคงหนีไม่พ้นเรื่องของสุขภาพจิตที่แย่ลง เพราะฉะนั้นหากเราจัดระเบียบสิ่งของที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ก็จะช่วยให้เราลดความเครียดเวลาหาของไม่เจอไปได้ และมันก็ยังช่วยให้เราได้ฝึกสมาธิในช่วงเวลาการจัดระเบียบของอีกด้วย “ก้าวเล็ก ๆ ที่เราเริ่มในเรื่องเล็ก ๆ จะกลายเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้าของคุณ”

 

2. ออกไปทำในสิ่งที่อยากจะทำ

      เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงมีแพลนหรือกิจกรรมอะไรสักอย่างที่อยากจะทำ แต่ด้วยชีวิตที่มันยุ่งอยู่ตลอดเวลาจนไม่มีเวลาไปทำสิ่งเหล่านั้นสักที จริง ๆ แล้วถ้าหากเราสามารถจัดระเบียบชีวิตใหม่ได้แล้วมันก็จะทำให้เรานั้นมีเวลามากขึ้น พร้อมทั้งเพียงพอที่จะออกไปทำในสิ่งที่อยากทำ ท้ายที่สุดแล้วมันก็จะส่งผลให้สภาพร่างกาย และจิตใจของเราได้พักผ่อน พักทุกเรื่องราวทิ้งไป พร้อมทั้งเราจะเดินก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมีความสุขได้

 

3. ไม่แบกรับทุกสิ่งเอาไว้คนเดียว

      หลาย ๆ คนอาจมีความรู้สึกมากมายในใจ แต่เลือกที่จะเก็บไว้คนเดียว เพราะมีความคิดที่ว่าหากเราเล่าให้ใครฟังเราจะเพิ่มภาระให้เขาหรือเปล่า ในทางกลับกันการที่เราจะไม่ต้องแบกมันไว้คนเดียวนั้น มันคือการที่มีคนช่วยแชร์ความรู้สึกของเรา อีกทั้งเขาอาจจะมีคำพูดที่ให้กำลังใจคนหมดไฟ และแบ่งภาระทางความคิดของเราได้ หากใครสักคนได้รับฟังแล้ว อาจจะทำให้เราได้เจอทางออกที่เราต้องการคำตอบอยู่ หรือเราอาจจะได้แนวคิดใหม่ ๆ มุมมองความคิดที่ต่างจากเราออกไปนั่นเอง

 

4. ออกจากที่ที่ไม่ใช่ที่ของเรา

      หากเราต้องการเลือกที่จะเดินออกมา มันไม่ใช่ว่าเรานั้นจะกลายเป็นผู้แพ้ หรือยอมรับความพ่ายแพ้เสมอไป แต่มันคือการก้าวเดิน และการมองหาเส้นทางใหม่ที่เราจะต้องเดินไปข้างหน้า ซึ่งมันอาจจะยากหรือง่ายกว่า แต่เชื่อเถอะว่ามันจะรู้สึกดีกว่าเส้นทางเก่าที่มันไม่ใช่เส้นทางของเราอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากเราวางแผนกับเส้นทางใหม่ให้ดี ไม่ว่าทางข้างหน้าเราจะเจออะไร เราจะรับมือกับมันได้เสมอ

 

      สิ่งสำคัญที่สุดของหลายๆ ปัญหาเพียงเราพยายามเริ่มต้นแก้ไขจากตัวเอง ก็จะทำให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายไปได้อย่างดี ขอเพียงเรามองทุกอย่างตามความเป็นจริงด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง เช่นเดียวกับภาวะหมดไฟในการทำงาน ถ้าคุณยอมรับว่าตนเองกำลังรู้สึกเช่นนั้น และแก้ไขด้วยวิธีที่เหมาะสม คนที่มีความสุขที่สุดย่อมไม่ใช่ใครอื่น แต่คือตัวคุณเอง…ขอให้มีความสุขกับการทำงานนะคะ

 

ที่มา: resourcecenter.thaihealth.or.th

ใส่ความเห็น

กุมภาพันธ์ 2025
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728