สงสัยไหมคะ? ทำไมต้องตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งเราก็ใช้ชีวิตได้ปกติดีอยู่แล้วไม่เห็นจะต้องตรวจเลย แต่หารู้ไม่การตรวจสุขภาพประจำปีสำคัญกว่าที่เราคิดมากๆ เพราะเวลาป่วยถ้าเกิดเป็นโรคที่อันตรายกว่าจะตรวจเจอก็รักษาไม่ทันแล้ว เหตุผลนี้จึงทำให้เราต้องตรวจสุขภาพให้ถี่ถ้วนเลย มารู้จักกันค่ะว่าเราต้องเตรียมตัวยังไงกันบ้างก่อนตรวจสุขภาพ
การตรวจสุขภาพประจำปี คือ การตรวจอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงการทำงานของระบบต่าง ๆ เพื่อหาความเสี่ยง และความผิดปกติที่อาจจะนำไปสู่โรคร้ายในอนาคตได้ เช่น ตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจหาระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด ตรวจระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ตรวจการทำงานของไต ตรวจการทำงานของตับ เป็นต้นซึ่งทุกคนมีสิทธิ์เป็นโรคร้ายแรงกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะบางโรคจะแสดงอาการก็ต่อเมื่อป่วยเป็นระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้แล้วนั่นเอง
ผู้ที่ควรได้รับการตรวจสุขภาพ
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองขั้นพื้นฐาน โดยเพศชายควรตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มเติม เช่นเดียวกับเพศหญิงที่ควรตรวจเพิ่มเพื่อหาความเสี่ยงมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งรังไข่
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเคยเป็นโรคต่าง ๆ เนื่องจากโรคบางโรคสามารถสืบทอดจากกรรมพันธุ์ เช่น หัวใจ ความดันโลหิตสูง เกาต์ มะเร็ง เป็นต้น
- ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่สัมผัสสารเคมีเป็นประจำ ผู้ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมเป็นพิษ เป็นต้น
การตรวจสุขภาพ ควรตรวจอะไรบ้าง
สำหรับโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีของบุคคลทั่วไปจะมีการตรวจชีพจร การวัดดัชนีมวลกาย วัดความดันโลหิต ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด เพื่อดูแนวโน้มการเกิดโรคหัวใจ นอกจากนี้ยังตรวจหาภาวะความดันโลหิตสูง เนื่องจากมีผลต่อการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตในอนาคต ตรวจค่าตับ ค่าไต ตรวจระดับกรดยูริคเพื่อตรวจหาโอกาสการเกิดโรคไขข้ออักเสบ โดยการตรวจขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ศูนย์ตรวจสุขภาพจะนำผลที่ได้ไปใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อค้นหาความผิดปกติและหากตรวจพบความเสี่ยงการเกิดโรคในอนาคตจะให้คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนต่อไป
สำหรับความถี่ในการตรวจนั้น ควรได้รับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงอาจตรวจซ้ำได้ทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพื่อติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ
ประโยชน์ของการตรวจสุขภาพ
- หากตรวจพบความเสี่ยงหรือมีแนวโน้มในการเกิดโรคในอนาคตจะทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที
- ลดภาวะลุกลาม ทำให้การรักษามีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จสูง
- ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา
- ลดความสูญเสีย เนื่องจากได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ
- หากไม่พบความผิดปกติ ผู้เข้ารับการตรวจสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างไร้กังวล
ตรวจสุขภาพแต่ละช่วงอายุ แตกต่างกันอย่างไร
- สุภาพสตรี เมื่อมีอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือเคยมีเพศสัมพันธ์ควรตรวจมะเร็งปากมดลูก และตรวจหาเชื้อ HPV และเมื่ออายุถึง 40 ปีขึ้นไปต้องเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- สุภาพบุรุษ เมื่อมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากปีละ 1 ครั้ง
นอกจากนี้ทั้งสุภาพบุรุษ และสุภาพสตรีหากมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป สามารถทำอัลตราซาวด์ช่องท้องเพื่อตรวจดูความผิดปกติของตับ ไต ถุงน้ำดี รังไข่ และมดลูก เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไปควรตรวจการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกาย หรือ EST เพื่อหาโรคอันตราย เช่น หัวใจขาดเลือด หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
การตรวจร่างกายสำหรับผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)
การตรวจสุขภาพประจำปีไม่ได้สำคัญกับแค่คนวัยทำงานเท่านั้น แต่สำคัญกับคนทุกช่วงวัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีการตรวจสุขภาพเพิ่มเติมบางรายการ ได้แก่
- การตรวจดวงตา : บุคคลอายุ 60-64 ปี ควรได้รับการตรวจทุก 2-4 ปี แต่สำหรับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจทุก 1-2 ปี
- ตรวจอุจจาระ : ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจอุจจาระ เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ปีละ 1 ครั้ง
- การประเมินภาวะสุขภาพ : โดยจะประเมินจากภาวะโภชนาการ ความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน การทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน หากอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับการประเมินสมรรถภาพการทำงานของสมองเพิ่มเติม
- ตรวจระดับไขมันในเลือดทุก 5 ปี
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และตรวจปัสสาวะทุกปี
- ตรวจระดับครีอะตินีน ในเลือดทุกปี
- หากอายุ 70 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดทุกปี
- ตรวจเต้านม : ผู้หญิงวัย 60-69 ปี ควรได้รับการตรวจเต้านมทุกปี และสำหรับผู้สูงวัยเพศหญิงอายุ 70 ปีขึ้นไป ควรตรวจตามความเหมาะสม
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก : เพศหญิงอายุ 60-64 ปี ควรได้รับการตรวจ ทุก ๆ 3 ปี ส่วนหญิงสูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจตามความเหมาะสม
การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ
- นอนพักผ่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้ผลการตรวจผิดปกติได้ โดยเฉพาะค่าความดันโลหิต
- หากกินยา หรืออาหารเสริมควรแจ้งแพทย์ เพราะอาจมีผลต่อการตรวจเลือด
- งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 วัน
- ก่อนตรวจสุขภาพควรถอดเครื่องประดับและโลหะออก เมื่อทำการเอกซเรย์หรือตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- หากมีโรคประจำตัว หรือประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งอื่น ควรนำมาให้แพทย์เพื่อประกอบคำวินิจฉัย
- สตรีที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน ควรเลี่ยงการตรวจเอกซเรย์เต้านม
- สตรีที่อยู่ในช่วงก่อนหรือหลังมีประจำเดือน 7 วัน ควรงดการตรวจปัสสาวะ เพราะค่าการตรวจสุขภาพอาจผิดปกติได้
- สตรีที่สงสัยว่าตนเองมีการตั้งครรภ์ หรือมีประจำเดือนขาดช่วง ควรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่องดการตรวจเอกซเรย์
ความเสี่ยงในการเกิดโรคในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูงกว่าในอดีตค่อนข้างมาก ที่จะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย โดยไม่ว่าจะเกิดจากการทานอาหาร ความเครียด รวมถึงการใช้ชีวิตที่แสนเร่งรีบ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อสุขภาพร่างกายคนเราทั้งสิ้น ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีจึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ได้รู้ว่าร่างกายของตัวเองมีโรคใดที่ซ่อนอยู่หรือไม่ หากตรวจพบความผิดปกติจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และเราเองก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีที่จะอยู่กับเราตลอดไปนั่นเอง
ที่มา: pathlab.co.th